วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Skincare Basic 10.1

Moisturizers Revealed!!!

ปัจจุบันมี Moisturizers ออกวางขายอย่างมากมาย บ้างก็โฆษณาว่าช่วยลดเลือนริ้วรอย มีสารสกัดสุดหายาก มีความพิเศษไม่เหมือนใคร เมื่อผสมเข้ากับคำโฆษณา กลยุทธ์ทางการตลาด ทำให้เกิดความสับสนกับผู้บริโภค... สรุปแล้วทุกคนจำเป็นต้องใช้ Moisturizers รึไม่? Moisturizers ที่ดีควรจะเป็นอย่างไร แล้ว Moisturizers ที่เหมาะกับ สภาพผิวจริง ๆ ต้องมีลักษณะแบบไหน? Moisturizers ช่วยเติมน้ำได้ลึกถึงผิวชั้นในได้จริงหรือ?




เพื่อที่จะตอบคำถามที่เกิดขึ้นในใจเหล่านี้ เราต้องย้อนกลับไป Basic เพื่อทำความเข้าใจว่าผิวสูญเสียความชุ่มชื้นได้อย่างไร? และเรียนรู้เรื่องพื้นฐานการทำงานของ Moisturizers กันก่อนดีกว่า


“ผิวสูญเสียความชุ่มชื้นไปได้อย่าไร?”


ถ้าจะอธิบายเรื่องนี้ก็ต้องเท้าความถึงผิวชั้นขี้ไคลหรือ Stratum Corneum ซึ่งเป็นชั้นของเซลล์ผิวเสื่อมสภาพที่ยึดเกาะกันเป็นเกราะป้องกันผิวจากสิ่งภายนอกและช่วยป้องกันการระเหยของน้ำออกจากผิว

ผิวชั้น Stratum Corneum ที่มีสภาพปกติจะมีกลุ่มของสารที่เรียกว่า Intercellular Matrix ซึ่งประกอบไปด้วยสารที่เป็นน้ำมัน (Lipid) และสารที่ละลายน้ำ อาธิเช่น Ceramides, Cholesterol, Fatty Acids (Linoleic Acid, Triglycerides, Glycerin, Phospholipids, Lecithin), Glycosaminoglycans (Hyaluronic Acid, Sodium PCA) เป็นเสมือนเกราะปกป้องผิวและเก็บกักความชุ่มชื้นเอาไว้

เมื่อชั้น Intercellular Matrix ถูกทำร้ายให้เสียหาย ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจาก แสงแดด มลภาวะ ความชื้นในอากาศน้อย หรือการใช้เครื่องสำอางที่ก่อการระคายเคืองผิว (อย่างสบู่ก้อน หรือ Toner ที่ผสม Alcohol) เซลล์ผิวก็จะสูญเสียสิ่งที่ยึดเหนี่ยวส่งผลให้เซลล์ผิวเรียงกันไม่เป็นระเบียบไม่เรียบเนียนและลอกเป็นขุย ผิวจึงสูญเสียความสามารถในการเก็บกักความชุ่มชื้นเอาไว้ในผิว

Moisturizers คืออะไร และ ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?


คำว่า “Moisturizers” แปลตรงตัวก็คือ “ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้น” แต่หลักการทำงานจริง ๆ ของมันนั้นไม่ได้ให้ความชุ่มชื้นโดยตรงแต่จะ “เคลือบผิวเอาไว้เพื่อลดการสูญเสียน้ำของผิว” เมื่ออัตราการสูญเสียน้ำของผิวลดลง ผิวก็จะมีความชุ่มชื้นมากขึ้นนั่นเอง

องค์ประกอบหลัก ๆ ของ Moisturizers มีอยู่ 4 ส่วนก็คือ

1. Occlusives

แปลสรุปความหมายได้ประมาณว่า “สารเคลือบผิว” Occlusives เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวด้วยการเคลือบปิดผิวชั้น Stratum Corneum เพื่อลดหรือชะลอการระเหยของน้ำ เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากคุณสมบัติของ Occlusives สูงสุด เราจึงควรทามอยซ์เจอไรเซอร์ขณะที่ผิวยังมีเปียกหรือมีความชื้นอยู่เพื่อเก็บกักความชุ่มชื้นเอาไว้

ตัวอย่างสารที่มีคุณสมบัติเป็น Occlusives ซึ่งพบได้บ่อยในเครื่องสำอางมีดังนี้





2. Emolients

แปลสรุปความหมายได้ประมาณว่า “สารทำให้ลื่นผิว / สารเติมเต็มผิว” Emolients ทำหน้าที่ไปเติมเต็มช่องว่างของผิวที่เกิดขึ้นจากแห้งลอก ผลคือทำให้ผิวชั้นขี้ไคล (Stratum Corneum) นุ่ม ลื่น ขึ้นทันทีที่ใช้

ตัวอย่างสารที่มีคุณสมบัติเป็น Emolients ซึ่งพบได้บ่อยในเครื่องสำอางมีดังนี้

 







3. Humectants

แปลสรุปความหมายได้ประมาณว่า “สารช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น” Humectants จะช่วยอุ้มน้ำและดึงน้ำจากชั้น Dermis (ชั้นหนังแท้) ขึ้นไปสู่ชั้น Epidermis (ชั้นหนังกำพร้าหรือผิวชั้นนอกนี่แหล่ะ) ผลที่ได้ก็คือผิวชั้นนอกของเรามีความชุ่มชื้นมากขึ้น นอกจากนี้เมื่อความชื้นในอากาศมากกว่า 70% ขึ้นไป สารพวก Humectants จะทำการดึงความชื้นในอากาศเข้ามาสู่ผิวชั้น Epidermis ด้วย

ในวงการเครื่องสำอาง บ่อยครั้งที่ Humectants จะถูกใช้แทนด้วยคำว่า Natural Moisutrizing Factor (NMF) หรือ Water-Binding Agent

ตัวอย่างสารที่มีคุณสมบัติเป็น Humectants ซึ่งพบได้บ่อยในเครื่องสำอางมีดังนี้





Tips : ถ้าสังเกตุดูดี ๆ จะพบว่า สารบางตัวมีคุณสมบัติได้หลายอย่าง เช่น Propylene Glycol นั้นเป็นได้ทั้ง Occlusives, Emolients และ Humectants ในหนึ่งเดียว

4. Miscellaneous Additives

แปลสรุปความหมายได้ประมาณว่า “สารเติมแต่ง” เพื่อเสริมคุณสมบัติต่าง ๆ ให้กับ Moisturizers อย่างเช่น น้ำหอม, สี, สารกันเสีย, สารสกัดจากพืช, วิตามิน และอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มอายุการเก็บรักษา หรือเพิ่มความน่าสนใจ ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่ถูกใจของตลาด

ตัวอย่างสารที่มีคุณสมบัติเป็น Miscellaneous Additives ซึ่งพบได้บ่อยในเครื่องสำอางมีดังนี้


(รูปจาก http://dermatology.about.com)



สรุป

Moisturizers ทำหน้าที่เปรียบเสมือนผิวชั้นที่สองของเราโดยก่อชั้นฟิล์มบาง ๆ เคลือบปกป้องผิวเอาไว้เพื่อลดการระเหยของน้ำควบคู่ไปกับส่วนผสมที่ช่วยอุ้มน้ำและดึงน้ำเข้าสู่ผิวชั้นนอกทำให้ผิวชุ่มชื้น นอกจากนี้ยังทำให้ผิวชั้นนอกที่เสียหายมีเวลาที่จะเยียวยาซ่อมซ่อมแซมตัวเองได้

ส่วนจะมีคุณสมบัติพิเศษอื่น ๆ ยังไงก็ขึ้นอยู่กับว่าจะใส่ Additives อะไรมา บ้างก็ใส่สีและน้ำหอมเพื่อให้กลิ่นและรูปลักษณ์น่าใช้ (แต่ไม่มีประโยชน์ในการบำรุงผิว แถมกระตุ้นให้เกิดอาการระคายเคืองและแพ้ได้) บ้างก็ใส่พวกสารที่ให้ผลทางคอสเมติคอย่างทำให้ผิวเรียบลื่นหรือช่วยสะท้อนแสงให้ผิวดูกระจ่างขึ้นในทันที (แต่ล้างออกก็หลุดหมดแล้ว) ดีที่สุดคือใส่สารบำรุงพวกแอนติออกซิแดนท์ สารต้านการระคายเคือง และ Natural Moisutrizing Factor (NMF) (ซึ่งส่งผลดีกับผิวในระยะยาว)

ยังมีหลายคนที่ยึดติดว่ามอยซ์เจอไรเซอร์ต้องอยู่ในรูปแบบของ Gel, Cream, Lotion หรือ Balm แต่จริง ๆ แล้วผลิตภัณฑ์ที่เหลวเป็นน้ำอย่าง Toner หรือมีเนื้อบางเบาอย่าง Serum ก็สามารถเป็น Moisturizers ชนิดบางเบาได้ ซึ่งเหมาะกับผิวมันหรือเป็นสิวง่ายที่ไม่ต้องการความเหนอะหนะจากสารจำพวก Occlusives Emolients ที่มีอยู่เยอะในเนื้อผลิตภัณฑ์แบบ Cream, Lotion หรือ Balm




มี Moisturizers ที่ช่วย “เติมน้ำ” ให้กับผิวได้ลึกถึงผิวชั้นในได้จริงหรือ?




ผิวของเราไม่ได้ประกอบไปด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่อย่างที่บางคนเข้าใจผิดกัน... ผิวชั้น stratum corneum ที่มีสุขภาพดีจะมีความชื้นอยู่เพียง 30% เท่านั้น ส่วนผิวชั้นในจะได้รับน้ำและพลังงานจากภายในร่างกายอยู่แล้ว (นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมการดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์จึงเป็นสิ่งสำคัญ) และอย่าลืมว่าผิวขาดความชุ่มชื้นเพราะว่าผิวชั้นนอกไม่มีประสิทธิภาพในการเก็บกักความชุ่มชื้นเอาไว้ การทำงานของ Moisturizers ทุกชนิดจะเน้นไปที่ผิวชั้นนอก (Epidermis) โดยจะไปช่วยเคลือบผิวชั้น Stratum Corneum ให้สามารถเก็บกักความชุ่มชื้นเอาไว้ได้


ผิวชั้นนอกของเรานั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นปราการปกป้องร่างกายจากปัจจัยต่าง ๆ ภายนอก ไล่ตั้งแต่ขนาดใหญ่อย่างฝุ่นละออง ไปจนถึงขนาดที่เล็กมาก ๆ อย่างแบคทีเรีย รวมไปถึง “น้ำ” ไม่ให้สามารถแทรกซึมเข้าไปสู่ผิวหนังชั้นในได้


การดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้ผิวแห้งได้จริงหรือ?




อย่างที่ได้ทราบมาแล้วว่าผิวแห้งเกิดขึ้นจากการที่ชั้นเคลือบปกป้องผิวนั้นเสียหายจึงไม่สามารถเก็บกักความชุ่มชื้นเอาไว้ได้ ถึงแม้ว่าผิวจะมีกลไกในการดึงน้ำจากเซลล์ที่อยู่ลึกลงไปขึ้นมา แต่หากผิวชั้นนอกไม่สามารถเก็บกักความชุ่มชื้นเอาไว้ได้ก็ไม่มีประโยชน์

การดื่มน้ำมาก ๆ แต่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาผิวแห้งได้ แต่ต้องทำควบคู่ไปกับการใช้มอยซ์เจอไรเซอร์เพื่อช่วยเคลือบปกป้องผิวและเก็บกักความชุ่มชื้น รวมถึงหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะไปทำลายชั้น Intercellular Matrix ด้วย


ผิวแห้ง (Dry Skin) กับ ผิวขาดความชุ่มชื้น (Dehydrated Skin) เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?





“ผิวแห้ง” กับ “ผิวขาดน้ำ” นั้นไม่เหมือนกันแต่มีความเกี่ยวข้องกัน

“ผิวแห้ง” (Dry Skin) เกิดจากการที่ผิวขาดน้ำมัน (lipid) มาเคลือบผิว ซึ่งมาได้จากหลายสาเหตุ เช่นพันธุกรรม (ผิวแห้งแต่กำเนิด) โรคผิวหนัง และการเผชิญปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำลาย Intercellular Matrix ส่งผลให้ผิว “แห้ง” “ลอก” และมีประสิทธิภาพในการเก็บกักความชุ่มชื้นได้ลดลง ส่งผลให้ผิวขาดความชุ่มชื้น (Dehydrated Skin)


“ผิวขาดความชุ่มชื้น” (Dehydrated Skin) ที่ส่วนใหญ่จะพูดกันว่า “ผิวขาดนั้น” นั้นก็คือการที่ผิวชั้น Stratum Corneum มีความชุ่มชื้นต่ำซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การดื่มน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายขาดน้ำจนส่งผลมาถึงผิวชั้นนอก (เพราะปกติผิวจะดึงน้ำจากผิวชั้นในขึ้นมาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวชั้นนอก) รวมถึงการที่ผิวชั้นนอกแห้งกร้านจนไม่สามารถเก็บกักความชุ่มชื้นได้ นอกจากนี้สภาพอากาศที่มีความชื้นต่ำก็จะดึงน้ำออกจากผิวออกไป และการอาบน้ำเป็นเวลานานก็ทำให้ผิวเสียความชุ่มชื้นไปได้เหมือนกัน


“มีผิวมันแต่ดันขาดน้ำ” ซวยซ้ำซวยซ้อนหรือเพราะทำตัวเอง?



ปกติแล้วคนผิวมันจะไม่ประสบปัญหาเรื่องขาดความชุ่มชื้นเลย เพราะมีน้ำมันช่วยเคลือบผิวในปริมาณที่เรียกได้ว่า “เกินความจำเป็น” แต่เหตุที่ทำให้เกิดปัญหาผิวมันเยิ้มแต่รู้สึกว่าขาดความชุ่มชื้นนั้น สาเหตุหลัก ๆ เกิดจากการดูแลผิวอย่างผิดวิธี

ผู้ที่มีผิวมันเยิ้มมักจะสรรหาทุกวิธีมาขจัดหรือลดความเงามันบนใบหน้าให้ออกไป และบริษัทเครื่องสำอางก็ได้ออกสินค้าต่าง ๆ มาตอบสนอง ไม่ว่าจะเป็นสบู่หรือ Cleanser ที่ทำความสะอาดมากเกินไป หรือ Toner ที่มีส่วนผสมของ Alcohol ในปริมาณสูง

Cleanser หรือสบู่ที่มีสารทำความสะอาดรุนแรงเกินไปจะทำขจัดน้ำมันทั้งส่วนที่จำเป็นและเกินความจำเป็นออกจนหมด ส่วนผสมแอลกอฮอล์ใน Toner ที่บางแบรนด์พยายามหลอกลวงผู้บริโภคว่าเป็นแอลกอฮอล์ที่อ่อนโยนกับผิวและช่วยขจัดเพียงน้ำมันส่วนเกินบนใบหน้าเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วไม่ว่าเป็น Alcohol แบบใด จะเป็น Ethanol, Alcohol Denat. หรือ SD Alcohol ต่างก็ทำลายชั้น Intercellular Matrix และพรากความชุ่มชื้นออกไปจากผิวไปพร้อมกันในขณะที่แอลกอฮอล์ระเหยออกไป (พร้อมทั้งก่ออนุมูลอิสระด้วย)

เมื่อความมันถูกชะออกไปมากเกินความจำเป็น ผิวก็จะผลิตน้ำมันออกมามากขึ้นเพื่อทดแทนน้ำมันที่ถูกขจัดออกไป ในขณะเดียวกันผิวก็สูญเสียความสามารถในการเก็บกักความชุ่มชื้นไปเนื่องจากชั้น Intercellular Matrix ที่คอยปกป้องผิวถูกทำลายไปแล้ว

ถ้าเรากลับดูแลผิวอย่างถูกวิธีและอ่อนโยน หลีกเลี่ยง Skincare ที่มีสารก่อการระคายเคือง และใช้มอยซ์เจอไรเซอร์ที่มีส่วนผสมเพิ่มความชุ่มชื้นแต่ไม่เพิ่มความมันบนผิวอย่าง Hyaluronic Acid หรือ Sodium PCA ก็จะช่วยแก้ปัญหาผิวขาดความชุ่มชื้นได้โดยไม่ต้องเพิ่มความมันให้กับผิว



ทุกคนจำเป็นต้องใช้ Moisturizers รึเปล่า?



ตามหลักการแล้ว Moisturizers ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคน (โดยเฉพาะ Moisturizers แบบ โลชั่น ครีม หรือ บาล์ม) เพราะไม่ใช่ทุกคนจะขาดความชุ่มชื้นหรือขาดน้ำมันที่ช่วยเคลือบผิว

บริษัทเครื่องสำอางพยายามทำให้ผู้บริโภคคิดว่า “ทุกคนจำเป็นต้องใช้ Moisturizers” ไม่ว่าจะมีผิวแห้งหรือมันเยิ้มก็ตาม บางทีถึงขนาดให้ใช้ Moisturizers ของชุดพื้นฐาน และไปใช้ Moisturizers บำรุงเพิ่มเติมเข้าไปอีก แต่ในความเป็นจริงแล้วการทา Moisturizers ที่ไม่เหมาะกับผิว ใช้ซ้ำซ้อน หรือมากเกินไปจะก่อผลเสียมากกว่าผลดี

ผู้ที่มีผิวแห้งนั้นจำเป็นต้องใช้ Moisturizers อย่าง Lotion, Cream หรือ Balm เพื่อช่วยทดแทนน้ำมันเคลือบผิวตามธรรมชาติที่หายไป ถ้ามีผิวธรรมดาหรือผิวมัน ปริมาณน้ำมันบนผิวก็มีมากพอ (หรือเกินพอ) อยู่แล้ว การใช้ Moisturizers จึงเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็น…

แต่ Moisturizers ปัจจุบันใช่แต่จะเคลือบผิวหรือเพิ่มความชุ่มชื้นเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันมีเทคโนโลยีซิลิโคนที่ช่วยให้ Moisturizers สมัยใหม่สามารถมีเนื้อบางเบา และอาจมีคุณสมบัติพิเศษในการช่วยดูดซับความมันส่วนเกิน หรือทำให้ผิวหน้าดูไม่มันเยิ้มซึ่งเป็นผลทางคอสเมติคชั่วคราว จึงทำให้ผิวมันมีทางเลือกมากขึ้นในการบำรุงผิว




Moisturizers สำหรับผิวรอบดวงตา หรือ Eye Cream นั้นจำเป็นหรือไม่?


บรรดาแบรนด์เครื่องสำอาง ผู้เชี่ยวชาญความงาม หรือ Guru บางคนจะบอกคุณว่า Eye Cream เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะมีความอ่อนโยน มีส่วนผสมที่ดูแลผิวรอบดวงตาเป็นพิเศษหรือจะช่วยขจัดรอยคล้ำหรือลดถุงใต้ตาได้อะไรก็ว่ากันไป... แต่กระผมจะขอยืนยัน นั่งยัน นอนยัน อย่างหนักแน่นว่า Eye Cream เป็นสิ่งที่ไร้สาระและทำคุณเสียเงินเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น!!!

คุณอาจจะคิดว่าได้ทำอะไรพิเศษ ๆ ให้แก่ผิวรอบดวงตาด้วยการใช้ Eye Cream แต่ด้วยความเป็นจริงที่ว่า ส่วนผสมของ Face Cream กับ Eye Cream ไม่มีความแตกต่างกันเลย (นอกจากขนาดและราคา) แล้วก็ไม่มีผลการวิจัยไหน ๆ ด้วย ที่สามารถพิสูจน์ว่า ครีมบำรุงรอบดวงตาจะพิเศษต่อผิวบริเวณนั้นแตกต่างจากครีมบำรุงผิวหน้า

ถ้าบอกว่าผิวรอบดวงตานั้นบอบบางจึงต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารก่อการระคายเคือง กระผมเห็นด้วย 100% และก็อยากบอกว่า ผิวส่วนอื่นบนใบหน้าก็สมควรจะได้ใช้ผลิตภัณฑ์อ่อนโยนและปราศจากสารก่อการระคายเคืองเช่นเดียวกับผิวรอบดวงตา รังสี UV ก็เป็นอีกสิ่งที่ทำอันตรายต่อผิวทุกส่วนรวมถึงผิวรอบดวงตาด้วย แต่ 95% ของ Eye Cream ที่ขายอยู่ในท้องตลาดนั้น “ไม่มีสารกันแดด!!!”

นอกจากนี้ปัจจุบันยังไม่มีส่วนผสมตัวใดที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยขับไล่แพนด้าออกจากใต้ตาออกไปได้ (นอกจากจะพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ใช้สายตาอย่างหนัก และไม่ขยี้ตาหรือทำให้เกิดการระคายเคือง) และถ้าต้องการขจัดถุงใต้ตาก็ควรควรเสียเงินให้แพทย์ผ่าตัดเอาไขมันส่วนเกินใต้ตาออกดีกว่าจะเอาเงินมาทิ้งกับ Eye Cream เพราะการทา Moisturizers ลงไปบนผิวไม่สามารถขจัดไขมันส่วนเกินที่สะสมอยู่ใต้ผิวได้

กรณีเดียวที่เราต้องการ Moisturizers เป็นพิเศษสำหรับรอบดวงตา ก็คือ “การมีผิวมัน” Moisturizers เนื้อบางเบาคงไม่เหมาะกับผิวรอบดวงตาที่แห้งเนื่องจากไม่มีต่อมน้ำมัน เราจึงต้องหา Moisturizers ที่มีเนื้อเข้มข้นมากพอที่จะช่วยเคลือบผิวรอบดวงตา (แต่ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ Eye Cream อยู่ดี หาซื้อ Face Cream ที่มีส่วนผสมอ่อนโยนใช้แทนก็ได้)

ถ้าการใช้ Eye Cream จะทำให้คุณสบายใจกว่า ก็แนะนำว่าควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากการระคายเคืองอย่างแท้จริงจะดีที่สุด (ไม่งั้นอาจจะต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะตาระคายเคือง)




Day Moisturizers VS. Night Moisturizers



สิ่งเดียวที่ทำให้ Day Moisturizers แตกต่างจาก Night Moisturizers นั่นคือ Day Moisturizers ควรจะมีส่วนผสมของสารกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป และต้องปกป้องผิวได้ครบทั้ง UVA/UVB ด้วย...

คำพูดไร้สาระที่บริษัทเครื่องสำอางหรือ BA มักจะพูดกรอกหูคุณก็คือ “ผิวต้องการสารบำรุงที่ต่างกันในตอนกลางวันและกลางคืน...” ซึ่งเป็นคำพูดที่ไม่สามารถหาข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ได้

ไม่มีเอกสารใดระบุได้ว่าส่วนผสมในเครื่องสำอางตัวใดควรจะอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้กลางวัน ตัวไหนที่ควรจะอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้ในตอนกลางคืน (นอกจากสารกันแดด ที่ตามตรรกะแล้วควรจะอยู่แต่ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ตอนกลางวัน)

ทุกช่วงเวลาของวันไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน... ผิวก็ต้องการสารแอนติออกซิแดนท์ที่จะช่วยต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา... ต้องการ Cell-Signailing Substance ที่จะช่วยส่งสัญญาณให้เซลล์ผิวทำงานได้เป็นปกติ... ต้องการ Natural Moisturizing Factors ที่จะช่วยเสริมชั้นเคลือบปกป้องผิวให้แข็งแรง...

ผิวคนคนเราซ่อมแซมและแบ่งตัวใหม่อยู่ตลอดเวลา คำพูดที่ว่าผิวจะซ่อมแซมตัวเองในตอนกลางคืนนั้นจึงเป็นความจริงแค่ส่วนเดียวเท่านั้น...

Night Moisturizers ก็เป็นมอยซ์เจอไรเซอร์ธรรมดา ๆ ตัวหนึ่งที่ไม่ได้ช่วยบำรุงผิวคุณล้ำลึกเป็นพิเศษอย่างที่บริษัทเครื่องสำอางพยายามทำให้คุณเข้าใจผิด และ Day Moisturizers ที่ไม่มีสารกันแดดก็ทำให้คุณต้องเสียเงินซ้ำซ้อนเพื่อซื้อครีมกันแดดมาใช้เพิ่ม....




Moisturizer ที่ระบุไว้ว่าเป็น Oli-Free หรือ Non-Comedogenic นั้นไม่ทำให้ผิวมันและไม่ทำให้เกิดสิวจริงหรือ?



ไม่จริงเลย เพราะถึงจะไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน แต่ส่วนผสมพวก Thickeners, Wax หรือ Emollients บางตัวก็ทำให้ผิวมันเยิ้มได้เช่นเดียวกัน เราจึงไม่ควรซื้อ Moisturizer เพียงเพราะมีคำว่า Oli-Free แปะอยู่

ส่วนคำว่า Non-Comedogenic นั้นเป็นคำที่พึ่งพาไม่ได้ เพราะบ่อยครั้งไปที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่บอกว่า Non-Comedogenic แต่กลับเกิดสิวอุดตันและหน้ามันเยิ้มทั่วหน้า



Comedogenic / Non-Comedogenic Ingredients


รูปที่แนบด้านล่างนี้เป็นข้อมูลคร่าว ๆ ที่บอกเราว่าส่วนผสมตัวใดที่มีโอกาสอุดตันผิวได้ง่ายหรือไม่อุดตันผิว ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ใน Ingredients List


ตัวอย่างส่วนผสมที่มีโอกาสอุดตันผิวได้ง่าย





ตัวอย่างส่วนผสมที่มีโอกาสอุดตันผิวได้บ้าง





ตัวอย่างส่วนผสมที่ไม่อุดตันผิวหรือมีโอกาสอุดตันผิวได้น้อย



แต่ข้อมูลเหล่านี้ก็ยังมีข้อขัดแย้งกันเอง(เช่นบางแหล่งก็บอกว่า Mineral Oil กับ Petrolatum อุดตัน แต่บางแหล่งก็บอกว่าไม่อุดตัน)และมีจุดบอดอยู่บ้างเนื่องจากผิวของคนมีโอกาสอุดตันได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสภาพผิว ขั้นตอนการดูแลผิว และความเข้มข้นของสารที่ใส่ ต่อให้เป็นสารที่อุดตันผิวได้ง่ายแต่ถ้ามีในปริมาณน้อยก็มีโอกาสที่จะอุดตันผิวต่ำ บางทีส่วนผสมที่ระบุไว้ว่าไม่ก่อให้เกิดการอุดตันอย่าง Zinc Oxide หรือ Titanium Dioxide ก็สามารถอุดตันผิวได้ถ้าใส่มาในปริมาณสูงหรือทำความสะอาดออกไม่หมด

ข้อมูลเรื่องสารที่อุดตันหรือไม่อุดตันผิวช่วยทำให้เราคัดกรองผลิตภัณฑ์ได้อย่างคร่าว ๆ ท้ายที่สุดเราก็ยังคงต้องทดลองใช้ด้วยตนเองไปจนกว่าจะเจอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผิวของเราเองอยยู่ดี (แต่ก็ดีกว่าลองมั่วล่ะนะ)




Moisturizers สามารถช่วยควบคุมหรือลดการผลิตน้ำมันได้จริงรึเปล่า?


อาจจะเป็นไปได้... แต่มีอุปสรรคมากมายเพราะเรายังไม่เข้าใจกระบวนการนี้อย่างแท้จริง...

ปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้ต่อมน้ำมันผลิตน้ำมันออกมามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับฮอร์โมน androgens และ estrogen (ฮอร์โมนเพศชายและหญิง) ซึ่งเครื่องสำอาง (หรือเวชสำอาง) ก็ไม่มีส่วนผสมตัวใดที่เมื่อทาลงบนผิวแล้วจะสามารถไปควบคุมฮอร์โมนเหล่านี้ได้จากภายนอก ในทางกลับกัน ส่วนผสมของเครื่องสำอางที่ก่อการอักเสบหรือระคายเคืองกับผิว จะสามารถไปกระตุ้นให้ต่อมไขมันทำงานมากผิดปกติได้...

ปัจจุบันนี้ ทางเลือกทีได้ผลและเป็นที่ยอมรับแล้วว่าช่วยในการลดการผลิตน้ำมันของต่อมไขมันได้จริงจะจัดอยู่ในรูปของยา อย่างยาคุมที่ไปช่วยลดฮอร์โมนเพศชาย หรือยา Isotretinoin (Roaccutane) ที่เป็นยากลุ่มกรดวิตามินเอที่ใช้รับประทาน เป็นต้น

มีการวิจัยบางชิ่นบ่งชี้ว่า Niacinamide หรือวิตามิน B3 ที่ใส่ในเครื่องสำอางสามารถช่วยลดการผลิตน้ำมันของต่อมไขมันได้ แต่ยังไม่มีใครเข้าใจกระบวนการทำงานของมัน จึงไม่สามารถ Confirm ได้...

Moisturizers ที่โฆษณาว่าช่วยลดความมัน ควบคุมความมัน จะใส่ส่วนผสมพวก Absorbent ที่ดูดซับน้ำมันส่วนเกิน หรือใช้ซิลิโคนชนิดแห้งไวที่ไม่ทิ้งคราบมันบนผิว ซึ่งเป็นผลทางคอสเมติคชั่วคราว เมื่อสารดูดวับความมันที่ใช้อุ้มน้ำมันจนเต็มที่แล้ว หน้าก็จะยังคงมันเยิ้มอีกอยู่ดี

สิ่งที่คุณสามารถทำได้คือการหลีกเลี่ยงส่วนผสมหรือผลิตภัณฑ์ที่จะทำให้ปัญหาหน้ามันเยิ้มที่เป็นอยู่นั้นแย่ลงกว่าเดิม อย่างการใช้ Cleanser ที่รุนแรงเกินไปจนผิวระคายเคือง เช็ด Toner ที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณสูง หรือใช้มอยซ์เจอไรเซอร์ที่เพิ่มความมันเยิ้มบนผิวเป็นต้น นอกจากนี้คุณยังสามารถซับความมันส่วนเกินด้วยแป้งฝุ่น กระดาษซับมัน หรืออาจจะใช้มาสค์โคลนช่วยดูดซับความมันที่ไม่มีส่วนผสมก่อการระคายเคืองก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ โดยความถี่ในการใช้จะต้องปรับให้เหมาะสมกับสภาพผิวของแต่ละบุคคล บางคนที่หน้ามันมาก ๆ อาจจะใช้ได้ทุกวัน ส่วนที่ผิวมันน้อยหน่อยก็อาจจะใช้สัปดาห์ละครั้ง โดยให้ใช้หลังล้างหน้า ทาทิ้งเอาไว้ 10 – 15 นาทีและล้างออกด้วยน้ำอุ่น


Moisturizers ช่วยลดเลือนริ้วรอยได้จริงหรือ?


คุณสมบัติที่ Moisturizers มีร่วมกันไม่ว่าจะมีราคาถูกหรือแพง ต่างก็เน้นไปในการให้ความชุ่มชื้น ผ้าผิวชั้นนอก (Epidermis) แห้งกร้านก็จะเกิดริ้วรอยเล็ก ๆ ขึ้น (เรียกว่า Fine Line) การทา Moisturizers จะทำให้ผิวชุ่มชื่นขึ้นเซลล์ผิวก็จะอวบอิ่ม ทำให้ริ้วรอยเล็ก ๆ เหล่านี้จางลง

แต่ถ้าพูดถึงริ้วรอยลึก (Wrinkle) หรือ ริ้วรอยจากการแสดงอารมณ์ (Expression Line) ที่เกิดขึ้นในผิวชั้นใน (Dermis) และลึกกว่านั้น Moisturizers ไม่สามารถขจัดออกไปได้ไม่ว่าจะมีราคาแพงกี่หมื่นกี่แสนก็ตาม ต้องพึ่งการทำ Treatment โดยแพทย์ หรือใช้สารที่ขึ้นทะเบียน “ยา” เท่านั้น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น