วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Skincare Basic 4

Reading Ingredients List

คุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่า เครื่องสำอางตัวนั้นจะดีหรือไม่ดียังไงด้วยการอ่านคำโฆษณา มองจากภายนอกหรือป้ายเนื้อครีมลงไปบนผิว สิ่งที่บอกความเป็นจริงแก่คุณได้มากที่สุดก็คือ “Ingredients List”

ผลิตภัณฑ์ที่ดีควรเปิดเผยส่วนผสมโดยละเอียด กฎหมายในต่างประเทศกำหนดให้เครื่องสำอางต้องแสดงส่วนผสมทั้งหมดโดยเรียงลำดับจาก “มากไปน้อย” ส่วนผสมที่อยู่ในอันดับต้นแปลว่ามันมีอยู่มากที่สุด และส่วนผสมที่อยู่หลังสุดแปลว่ามันมีอยู่น้อยที่สุด กฎหมายไทยยังหละหลวมในเรื่องนี้มาก เครื่องสำอางที่ผลิตในไทยส่วนมากจะบอกแค่ส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งไม่สามารถรู้ได้เลยว่าส่วนผสมตัวที่เหลือมีอะไรบ้าง หรือใส่มามากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ดี กฎหมาย อย. ของไทยในอนาคตจะมีการบังคับให้แสดงส่วนผสมโดยละเอียดแล้วขอรับ

Ingredients List จะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนก็คือ
Active Ingredients ในส่วนนี้จะใช้แสดงสารออกฤทธิ์สำคัญ ในส่วนนี้จะมีการระบุความเข้มข้นเป็นเปอร์เซ็นต์มาให้ด้วย ตัวอย่างสารที่จะอยู่ในส่วนนี้อย่างเช่น สารกันแดด

Other Ingredients เป็นส่วนผสมอื่น ๆ ที่กฎหมายไม่ระบุว่าต้องแสดงเป็น Active Ingredients เช่น น้ำ, ตัวทำให้ส่วนผสมข้น, สารบำรุง, น้ำหอม, สี, สารกันเสีย เป็นต้น





Cosmetic Ingredient Dictionary
 
ส่วนผสมที่ประกอบเป็น Ingredients List นั้นเป็นชื่อทางเคมีที่เราไม่คุ้นหู การที่จะรู้ว่าสารแต่ละตัวมีหน้าที่อะไร มีประโยชน์หรือโทษกับผิวอย่างไรบ้าง ก็ต้องเอาชื่อส่วนผสมตัวนั้นไปตาม Cosmetic Ingredient Dictionary ซึ่งสามารถสั่งซื้อตามร้านหนังสือใหญ่ ๆ 
 
 




อีกทางเลือกที่แสนสะดวกและง่ายดายก็คือการใช้บริการทาง Internet ซึ่งส่วนใหญ่จะฟรี (แต่ก็มีบ้างที่ต้องเสียเงินเพื่อดูรายละเอียดเบื้อลงลึก)


Cosmetic Ingredient Dictionary
http://www.cosmeticscop.com/learn/cosmetic_dictionary.asp?id=6&letter=A

Cosmetic Safety Database
http://www.cosmeticdatabase.com

Safety Information about Cosmetics and Personal Care Products
http://www.cosmeticsinfo.org

Natural Medicines Comprehensive Database
http://www.naturaldatabase.com

Health and Drug Information
http://www.drugdigest.org

ปัจจุบันเริ่มมี Cosmetic Ingredient Dictionary มากขึ้นใน Internet แต่ไมได้หมายความว่าข้อมูลในเวปเหล่านั้นจะน่าเชื่อถือเสมอไป Cosmetic Ingredient Dictionary ในเวปไซท์ที่ขายเครื่องสำอางส่วนใหญ่จะให้ข้อมูลที่ไม่ค่อยเป็นกลาง ส่วนมากมักจะบอกแต่ด้านดีของสารที่ผสมในผลิตภัณฑ์ที่เขาขาย จึงจำเป็นที่จะต้องหาข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งเพื่อมาเปรียบเทียบ



Technical Terms for Ingredients List


ส่วนผสมแต่ละตัวก็จะมีหน้าที่หลัก ๆ ต่างกันไป บ้างก็เป็นตัวทำให้ส่วนผสมข้นขึ้น บ้างก็เป็นตัวเคลือบผิว บ้างก็มีหลายคุณสมบัติในหนึ่งเดียว คำศัพท์พื้นฐานที่ควรรู้ในการอ่าน Ingredients List ก็มีดังนี้


Abrasive / Scrub

เป็นส่วนผสมที่ใช้ขัดผิวเพื่อขจัดเอาเซลล์ผิวเสื่อสภาพให้หลุดออกไป ส่วนผสมของ Scrub ที่ดีควรจะมีลักษณะกลมมนไม่มีเหลี่ยมมุมคม ๆ ที่จะบาดผิวและก่อความเสียหายทำให้ผิวระคายเคืองได้ เม็ด Scrub ที่ทำจากพลาสติก Polyethylene หรือของจากธรรมชาติอย่าง Jojoba Beads นั้นมีความกลมมน จึงปลอดภัยกับผิวมากกว่า Scrub ที่ทำจาก Alumina / Aluminum Oxide หรือพวกเปลือกหรือเมล็ดผลไม้บดละเอียด ที่เมื่อส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์และจะพบว่ามีเหลี่ยมมุมที่คมมาก


Absorbent

เป็นส่วนผสมที่ช่วยดูดซับความมัน มีอยู่หลายแบบทั้ง ทั้งแป้ง โคลน หรือซิลิโคน และสารสังเคราะห์ เช่น Kaolin, Bentonite, Magnesium Aluminum Silicate, Talc, Silica, Nylon-12 และ Cyclomethicone เป็นต้น

แป้งที่ได้มากจากพืชอย่างแป้งข้าว แป้งข้าวโพด แป้งมัน แป้งหัวบุก ก็สามารถผสมในเครื่องสำอางเพื่อดูดซับความมันได้ แต่เนื่องจากมันเป็น Food Derivative ที่เป็นอาหารอย่างดีแก่แบคทีเรีย มันจึงก่อผลเสียกับผิวได้จึงควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมดูดซับความมันที่ทำมาจากพืช


Anti-bacteria

ส่วนผสมที่ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียบนผิว ตัวที่พบบ่อยก็คือ Triclosan ซึ่งมักจะผสมในผลิตภัณฑ์รักษาสิวหรือ Cleanser เป็นส่วนใหญ่ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมฆ่าเชื้อแบคทีเรียเป็นประจำมีโอกาสทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยาได้ คุณจึงควรใช้เป็นช่วงระยะเวลาสั้นหรือ หรือหยุดใช้หลังจากได้ผลเป็นที่พอใจแล้ว


Antioxidant

ช่วยลดผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอนุมูลอิสระ รายละเอียดเพิ่มเติมจะแสดงอยู่ในบทถัด ๆ ไป สารแอนติออกซิแดนท์มีมากมายหลายตัว ทั้งวิตามิน สารสกัดจากพืช น้ำมันบางชนิด เอมไซม์บางชนิด และเปปไทด์บางตัว แต่ละตัวก็มีประสิทธิภาพมากน้อยไม่เท่ากัน ผลิตภัณฑ์ที่ดีควรมีสารแอนติออกซิแดนท์หลาย ๆ ตัวรวมกัน

ถ้าสาร Antioxidant ใส่มาในปริมาณที่น้อยมาก หรืออยู่หลังสารกันเสีย มันก็จะไม่มีประสิทธิภาพในการบำรุงผิว จะใช้เป็นตัวกันเสียของผลิตภัณฑ์มากกว่า


Cell-Signaling Substance / Cell-Communicating Ingredients

เป็นส่วนผสมที่ช่วยในสื่อสารกับเซลล์ผิว บอกให้เซลล์ผิวที่จะเกิดใหม่นั้นทำงานและมีรูปทรงที่ปกติสมบูรณ์ ส่วนผสมที่พบบ่อยก็อาธิเช่น Retinol, Niacinamide, Palmitoyl Oligopeptide เป็นต้น


Emollient and Occlusives

จริง ๆ แล้ว Emollient กับ Occlusives นั้นคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน แต่ด้วยความคล้ายที่แทบแยกกันไม่ออกเลยขอจับมายัดไว้ด้วยกันเลยจะดีกว่า

สารกลุ่มนี้จะช่วยเคลือบผิว ทำให้ลื่นผิว ลดการสูญเสียน้ำออกจากผิว ตัวอย่างเช่น Mineral Oil หรือน้ำมันจากพืชต่าง ๆ Wax หรือ Petroleum Jelly เป็นต้น


Emulsifier

เป็นตัวเชื่อมประสานน้ำกับน้ำมันให้เข้ากัน มักใส่เพื่อเชื่อให้ส่วนผสมน้ำกับน้ำมันใส่ส่วนผสมเข้ากันได้ง่าย ถ้าใส่ใน Cleanser หรือ Makeup-Remover ก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถทำคามสะอาดน้ำมันบนผิวได้ดีหรือทำให้เนื้อผลิตภัณฑ์ล้างออกด้วยน้ำได้ง่ายขึ้น (เช่น Cleansing Oil)


Film-Foaming Agent

เป็นตัวที่ทำให้ผลิตภัณฑ์เมื่อแห้งแล้วจะเป็นฟิลม์บาง ๆ เพื่อเคลือบผิวเอาไว้ ช่วยเก็บกักความชุ่มชื้นและทำให้ผิวเรียบลื่นขึ้น ส่วนผสมจำพวกนี้มักมีชื่อในทำนอง PVP หรือ acrylates หรือ acrylamides หรือ copolymers ทั้งหลายแหล่ แต่ส่วนผสมกลุ่มนี้ก็อาจกระตุ้นการระคายเคืองได้ในบางคนเหมือนกัน


Fragrance / Perfume

น้ำหอมถูกใส่เพื่อทำให้กลิ่นของผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องใจน่าใช้มากขึ้น แต่มันเป็นสารก่อการระคายเคืองและไม่มีประโยชน์ต่อผิวใด ๆ เลย หลีกเลี่ยงได้เป็นดี ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรมีอยู่ในลำดับท้ายๆ ของ Ingredients List

น้ำหอมที่ได้มาจากธรรมชาติ อย่างพวก Fragrance Plant Extract, Fragrance Oil หรือ Essential Oil นั้นก่อการระคายเคืองได้มากกว่าและง่ายกว่าน้ำหอมที่ได้มาจากการสังเคราะห์ เจอ BA ที่ไหนบอกว่า “น้ำหอมของเราได้มากจากธรรมชาติ จึงปลอดภัยกับผิว” ก็เอาส้นสูงตบปากสั่งสอนได้เลย (พูดเล่นนะขอรับ อย่าไปทำจริง ๆ ล่ะ)


Humectant / Water-Binding Agent

Humectant เป็นส่วนผสมที่อุ้มน้ำได้ดี จึงช่วยดึงน้ำเข้าสู่ผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นได้ ส่วน Water Binding Agent เป็นตัวที่ช่วยเคลือบปิดผิวไม่ให้ความชุ่มชื้นเล็ดลอดออกไป สองตัวนี้ควรใช้คู่กันเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด แต่ที่จับมายัดรวมกันเพราะเดี๋ยวนี้ข้อมูลมันตีกันมั่วจนแยกแทบไม่ออกแล้วว่าตัวไหนเป็น Humectant หรือ Water-Binding Agent แต่ไม่ว่ามันจะเป็นอะไร มันก็ช่วยเรื่องความชุ่มชื้นเหมือนกันทั้งนั้น

นอกจากนี้ Water-Binding Agent ก็อาจจะตีความว่าเป็น Natural Moisturizing Factors ได้เหมือนกัน สารในกลุ่มนี้เช่น Amino Acids, Ceramides, Glycerin , Hyaluronic Acid, Cholesterol, Fatty Acids, Triglycerides, Phospholipids, Glycosphingolipids, Urea, Linoleic Acid, Glycosaminoglycans, Mucopolysaccharide, Sodium PCA เป็นต้น


Preservative

ก็คือสารกันเสียนั่นเอง เครื่องสำอางจำเป็นต้องมีสารกันเสีย โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมที่ได้มากจากพืชหรือมาจากธรรมชาติ เพราะสารพวกนี้มีโอกาสที่จะทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้ง่าย

สารกันเสียในกลุ่ม Paraben นั้นถูกใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด และก็ยังเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าปลอดภัย และเครื่องสำอางก็ผสมสารกันเสียในปริมาณที่น้อยมาก ความเชื่อว่าสารกันเสียเป็นสิ่งที่ไม่ดีกับผิวถูกปลุกกระแสขึ้นจากบริษัทเครื่องสำอางบางยี่ห้อที่ชูจุดขายว่าปลอดสารกันเสีย จึงเอาข้อมูลการทดสอบเรื่องผลกระทบของสารกันเสียที่มีต่อผิวมาแสดง โดยไม่ได้บอกว่า การทดสอบเหล่านั้นใช้สารกันเสียในความเข้มข้นมากกว่าที่ใช้กันปกติในเครื่องสำอางหลายสิบเท่า

แต่ถ้าคุณไม่ต้องการใช้สารกันเสียกลุ่ม Paraben ก็ยังมีสารกันเสียตัวอื่นอีกมากมายให้เลือกใช้


Slip Agent / Penetration Enhancer

เป็นตัวช่วยนำพาให้ส่วนผสมซึมลงผิวได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเรื่องความชุ่มชื้น ให้เนื้อผลิตภัณฑ์ลื่นและทาได้ง่าย สารที่พบบ่อยในกลุ่มนี้ก็คือ Propylene Glycol และ Butylene Glycol เป็นต้น


Solvent

เป็นตัวทำละลาย ส่วนใหญ่ก็เป็น น้ำ (Water) แอลกอฮอล์ หรือซิลิโคนเพื่อช่วยละลายส่วนผสมที่ละลายในน้ำมัน


Stabilizer

เป็นตัวที่ทำให้ส่วนผสมคงตัว ยกตัวอย่างเช่น Emulsion Stabilizer ก็ช่วยทำให้ส่วนผสมน้ำกับน้ำมันที่ผสมกันแล้วไม่แยกตัวออกจากกันอีก


Surfactant

ย่อมาจากคำว่า SURFace ACTive AgeNT แปลตรงตัวก็คือ “สารลดแรงตึงผิว” ทำหน้าที่ง่าย ๆ ในการทำให้ส่วนที่เป็นน้ำ กับส่วนที่ไม่เข้ากับน้ำสามารถมาผสมกันได้ ใช้ประโยชน์หลัก ๆ ในการเป็นสารทำความสะอาด (Detergent) บางทีก็จะใช้เป็นตัวช่วยประสานส่วนผสมในครีมหรือโลชั่นด้วยเหมือนกัน

Surfactant ก็มีทั้งตัวที่อ่อนโยนและตัวที่ไม่ดีกับผิว รายละเอียดจะมีเพิ่มเติมในบทต่อไป


Thickening Agent / Thickener

เป็นตัวทำให้ส่วนผสมข้นขึ้น



Where to Find “Ingredients List”


สำหรับท่านที่อ่านส่วนผสมจนชินและจำได้แล้ว การไปเดินตามร้านขายยา ร้านขายของชำ หรือตามเคาเตอร์เครื่องสำอาง คุณก็สามารถปรายตาอ่านส่วนผสมที่ตรงนั้นได้สบาย ๆ แต่สำหรับผู้ที่ยังใหม่ ยังคุ้น จำชื่อส่วนไม่ได้และประโยชน์ของมันไม่ได้ ก็ต้องมองหาแหล่งที่มี “Ingredients List” บอกมาโดยละเอียด เพื่อที่เราจะได้เปิดเวปไซท์เพื่อตรวจส่วนผสมทีละตัวไป

แบรนด์เครื่องสำอางบางแบรนด์ มี Ingredients List บอกเอาไว้โดยละเอียดในเวปไซท์ของตน ยกตัวอย่างเช่น

- Avon : www.avon.com
- Boots : www.boots.com
- Jurlique : www.jurlique.com
- Kiehl’s : www.kiehls.com
- Paula’s Choice : www.paulaschoice.com
- Philosophy : www.philosophy.com
- The Body Shop : www.thebodyshop.com


เวปไซท์ที่ขายเครื่องสำอางออนไลน์บางแห่งก็มีระบุ Ingredients Listของผลิตภัณฑ์แต่ละตัวมาให้เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น

- www.drugstore.com

- www.dermadoctor.com


นอกจากนี้ยังสามารถเยี่ยมชมเวปไซท์ส่วนบุคคลที่รวบรวม Ingredient List มาให้เราได้ชมกันฟรี ๆ (ใจดีมากกกก)

http://phoebe.pn-np.net : แหล่งรวบรวม Skin-care Ingredients ที่ใหญ่มหึมา โดยคุณ Phoebe ของเรานี่เอง

อีกวิธีหนึ่งก็คือเอากล้องไปถ่ายรูปส่วนผสมข้างกล่อง แล้วค่อยกลับมาอ่านที่บ้าน วิธีนี้อาจจะต้องใช้การ “แอบ” หรือ “ขออนุญาต” ก่อน ถ้าเขาให้ก็ดีไป ถ้าไม่ให้ก็ค่อยหาวิธีการอื่นกันต่อไป...
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น