วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Skincare Basic 9

Treat your skin needs

หลังจากทำความสะอาด ปรับสภาพ และขจัดเซลล์เสื่อมสภาพไปแล้ว ผิวก็จะพร้อมที่จะได้รับการ Treat หรือบำรุงอย่างเต็มที่ด้วย “Treatment”


ทำไมต้อง Treat ผิวเป็นพิเศษด้วยล่ะ?
 



ถ้ายังเป็นเด็กหรือวัยรุ่น ร่างกายกำลังเจริญเติบโตและเซลล์ผิวก็ทำงานเต็มที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ดี การทามอยซ์เจอไรเซอร์และครีมกันแดดก็เพียงพอแล้วในแต่ละวัน แต่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นเซลล์ผิวของเราก็ทำงานได้ไม่ดีเหมือนเก่า และปัจจุบันนี้ทุกที่ก็ล้วนแต่เต็มไปด้วยมลภาวะที่ก่ออนุมูลอิสระทำลายผิว... การทาเพียงมอยซ์เจอไรเซอร์ที่ช่วยเคลือบให้ความชุ่มชื้นผิวก็คงไม่เพียงพอเสียแล้ว เราจึงต้องหาผลิตภัณฑ์ที่มีสารบำรุงอย่างวิตามินหรือสารแอนติออกซิแดนท์ในระดับที่เข้มข้นมากพอที่จะเสริมการทำงานของเซลล์ผิวและช่วยต้านอนุมูลอิสระ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากขั้นตอนหนึ่ง (ถ้าคุณมีอายุเลย 25 ขึ้นไป)

และเหตุผลที่ควร Treat ผิวหลัง Exfoliate นั่นก็เพราะถ้าเซลล์ผิวเสื่อมสภาพหรือขี้ไคลยังคงทับถมจนหนาเตอะอยู่ที่ผิวชั้นนอก เมื่อเราทา Treatment ลงไปมันก็จะไปกองอยู่ขี้ไคลเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ผิวได้รับการบำรุงไม่เต็มที่จากผลิตภัณฑ์ที่เราทาลงไปนั่นเอง

รู้อย่างนี้แล้วทุกท่านก็คงอยากสรรหาเจ้า Treatment มาบำรุงผิวกันจนตัวสั่น แต่ก่อนที่จะออกไปถลุงเงินที่หามาด้วยความยากลำบาก ก็ต้องศึกษาหาข้อมูลกันเสียหน่อย เพราะผลิตภัณฑ์ Treatment อย่างพวก Serum หรือ Concentrate ที่บรรดาบริษัทเครื่องสำอางขนออกมาวางจำหน่ายนั้น ไม่ใช่ทุกตัวจะดีหรือมีประสิทธิภาพสุดวิเศษอย่างที่เขาโฆษณา

พึงระลึกเอาไว้ว่า “วงการเครื่องสำอางนั้นแทบไม่ต่างอะไรกับวงการมายาที่เต็มไปด้วยความสับสนและหลอกลวง”

เพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากขั้นตอนนี้มากที่สุดโดยไม่สิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุ ก็ต้องมาทำความเข้าใจความจริงพื้นฐานที่ถูกชักนำให้มองข้ามกันไปสักหน่อย



“เครื่องสำอาง” ก็ยังคงเป็น “เครื่องสำอาง” อยู่วันยันค่ำ


เห็นกันเกลื่อนทั่วไปตามทีวีและนิตยสาร กับโฆษณาเครื่องสำอางที่อ้างว่า “สามารถย้อนเวลาให้ผิวกลับมาอ่อนเยาว์” “ชุบชีวิตให้ผิวเสียสะสมกลับมาแข็งแรงดั่งเดิม” “ยกกระชับผิวโดยไม่ต้องพึ่งการศัลยกรรม” “ให้ริ้วรอยลึกจางหายไปได้เหมือนการฉีด Derma Filler”

ดู ๆ ไปแล้วราวกับว่า เครื่องสำอางสมัยนี้สามารถดลบันดาลได้ทุกอย่าง...

แต่คำโฆษณาก็คือคำโฆษณา เพราะไม่ว่าเครื่องสำอางหรือ Skincare ที่เราใช้จะมีส่วนผสมที่ดีเยี่ยม เข้มข้น หรือฟังดูดีมากแค่ไหน เครื่องสำอางก็ไม่สามารถหยุดยั้งการเกิดริ้วรอยหรือซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นมาแล้วได้เหมือนกับการทำ Treatment จากแพย์ผิวหนังหรือการศัลยกรรม

คำนิยามของ "เครื่องสำอาง" ก็คือ สารหรือตำรับใด ๆ ที่มุ่งหมายสำหรับใช้สัมผัสกับส่วนต่าง ๆ ภายนอกของร่างกายมนุษย์ (ผิวหนังชั้นนอก รอบดวงตา เส้นผม เล็บ ริมฝีปาก ฟัน ในช่องปาก ส่วนภายนอกของอวัยวะสืบพันธุ์ ) โดยทำหน้าที่หลัก ๆ เพื่อการ ทำความสะอาด ทำให้มีกลิ่นหอม เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ภายนอก แก้ปัญหากลิ่นกาย เพื่อปกป้องร่างกาย และเพื่อดูแลร่างกายให้อยู่ในสภาพดี

(สรุปจาก "บทบัญญัติเครื่องสำอางแห่งอาเซียน" หรือ "ASEAN Cosmetic Directive Requirements")

สารสำคัญที่มีฤิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือการทำงานของผิวได้นั้นทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับผู้ใช้ได้ (อย่าง Retinoic Acid) จะถูกขึ้นทะเบียนเป็น "ยา" สารที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาจะต้องขายหรือจ่ายให้โดยเภสัชกรหรือแพทย์เท่านั้นและไม่สามารถผสมในเครื่องสำอางได้ ดังนั้นเครื่องสำอางจึงไม่สามารถทดแทนหรือให้ผลได้เทียบเคียงกับ "ยา" "การทำศัลยกรรม" หรือ "การทำ Treatment โดยผู้เชี่ยวชาญ"

ปัจจุบันมีความพยายามที่จะสร้างความสับสนเพิ่มมากขึ้นด้วยคำว่า "เวชสำอาง" หรือ "Cosmeceutical" โดยทำขึ้นเพื่อชีนำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดว่า "เวชสำอาง" มีความพิเศษและมีประสิทธิภาพมากกว่า "เครื่องสำอาง"

แต่จริง ๆ แล้ว “เวชสำอาง” หรือ "Cosmeceutical" ก็เป็นคำที่ถูกสร้างขึ้นมาลอย ๆ โดยไม่มีข้อกำหนดกฎเกณฑ์มาตรฐานที่ยอมรับกันเป็นสากลว่ามันควรจะแตกต่างจาก “เครื่องสำอาง” ยังไง การอ่านและเปรียบเทียบส่วนผสมแบบง่าย ๆ ก็สามารถบอกได้แล้วว่าส่วนผสมของ “เวชสำอาง” ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวกับยา (Pharmaceutical) หรือมีอะไรที่พิเศษแตกต่างจากเครื่องสำอาง (Cosmetics)


นี่เป็นสิ่งที่ควรรู้และจำขึ้นใจ เพื่อที่จะได้ไม่คาดหวังกับ "เครื่องสำอาง" มากจนเกินขอบเขตของมัน การทำความเข้าใจถึงข้อจำกัดนี้จะช่วยทำให้คุณไม่หลงมัวเมาไปกับคำโฆษณาสุดวิเศษที่บริษัทเครื่องสำอางพยายามล่อลวงให้คุณเข้าใจผิดและเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์



“เราต้องเลือกผลิตภัณฑ์ ไม่ใช่ให้ผลิตภัณฑ์มาเลือกเรา”


Concept พวกนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่ใครหลายคนรู้กันดีอยู่แล้ว แต่ที่คนจำนวนมากไม่ประสบความสำเร็จในการ Treat ผิวตามที่ต้องการ เพราะว่าเขาเหล่านั้น โดนกับดักและคำลวงของวงการเครื่องสำอางหลอกให้ไขว้เขว

บริษัทเครื่องสำอางจะกำหนด “กลุ่มเป้าหมาย” ก่อนออกสินค้ามาสักตัว โดยพยายามหว่านล้อมและใช้คำพูดเชิญชวนให้เรารู้สึกไปเองว่าผลิตภัณฑ์ตัวนั้นคือสิ่งที่เราต้องการ

แต่แทนที่เราจะตกเป็นกลุ่มเป้าหมาย... ทำไมเราไม่มองว่าเป้าหมายของเราคืออะไร...

อย่าให้คำโฆษณาหรือพนักงานขายมาชี้นำบอกว่าผลิตภัณฑ์ตัวนั้นตัวนี้จำเป็นกับเรา เพราะไม่มีใครรู้ดีไปกว่าตัวเราเองว่าผิวของเราต้องการอะไร



มองหา Treatment ที่สารสำคัญมีคุณสมบัติหลากหลาย


บริษัทเครื่องสำอางจะออกผลิตภัณฑ์มามากมายโดยชี้จุดขายที่แตกต่างกันเพื่อกระตุ้นให้เราซื้อผลิตภัณฑ์ที่มากเกินความจำเป็น อย่างเช่น

เซรั่มA ช่วยยกกระชับผิว เซรั่มB ลดริ้วรอย เซรั่มC ทำให้รูขุมขนเล็กลง เซรั่มD ลดเลือนจุดด่างดำ แบบนี้ถ้าเกิดเรามีปัญหาทั้ง 4 อย่าง ก็ต้องใช้เซรั่มทั้ง 4 ตัวนั้นเลยงั้นหรือ?...

จากประสบการณ์ที่ผ่านพบมา มีคนจำนวนมากประโคมโบก Treatment หลายอย่างในเวลาเดียวกันเพราะคิดว่ามันจะช่วยแก้สารพัดปัญหาผิวที่เกิดขึ้นได้ไปพร้อมๆ กัน แต่ที่จริงแล้วการโปะ Treatment หลาย ๆ ตัวไปพร้อมๆ กันจะทำให้ผิวเสี่ยงต่อการระคายเคืองได้มากขึ้น และจำนวนผลิตภัณฑ์ที่เราทาเพิ่มมากขึ้นก็หมายถึงทำให้โอกาสที่ผิวจะอุดตันก็มากขึ้นตามมา

ถ้าสมมุติว่าเรามีปัญหาผิวหลายอย่างที่ต้องการ Treat เราก็ต้องมองหาผลิตภัณฑ์ที่ผสม Active Ingredient ที่มีคุณสมบัติหลากหลาย อย่างเช่นมีทั้งปัญหาจุดด่างดำ ผิวหมองคล้ำ มีริ้วรอย ในกรณีนี้ “วิตามินซี” คือสิ่งที่เราต้องมองหา เพราะวิตามินซีในความเข้มข้นมากพอ (อย่าง 5 – 10%) จะสามารถลดเลือนเมลานินทำให้จุดด่างดำจางหาย ช่วยกระตุ้นคอลาเจนทำให้ริ้วรอยเล็ก ๆ ดูจางลงไปได้ แถมเป็นสารแอนติออกซิแดนท์ที่ทรงประสิทธิภาพ

หรือถ้ามีปัญหาสิวอุดตัน จุดด่างดำ ผิวหมองคล้ำ มีริ้วรอย ยากลุ่มกรดวิตามินเอ อย่าง Retin-A ก็สามารถบรรเทาหรือขจัดปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาได้ โดยไม่จำเป็นต้องประโคมโบกผลิตภัณฑ์หลายตัวให้ผิวระคายเคืองหรือหนักหน้าจนเป็นสิวอุดตันตามมา (แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เพื่อความปลอดภัย)

ในหลายกรณี การใช้ผลิตภัณฑ์ AHAs หรือ BHA ก็ถือเป็น Treatment ที่เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องหาอะไรมาเพิ่มเป็นพิเศษ ก็มองหาผลิตภัณฑ์ที่มีสารแอนติออกซิแดนท์เข้มข้นมาช่วยปกป้องผิวจากอนุมูลอิสระ



ผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าเป็น “Serum” หรือ “Treatment” หรือ “Concentrate” ไม่จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพหรือเข้มข้นสมชื่อเสมอไป


เครื่องสำอางทุกแบรนด์ในโลกนี้จะโฆษณาผลิตภัณฑ์ Serum ของพวกเขาว่า “เข้มข้น” “อัดแน่น” “อุดม” ไปด้วยสารบำรุงที่แสนจะวิเศษเลอเลิศ ชุบชีวิตผิวที่ทรุดโทรมเป็นผีดิบตายซากให้กลับมาเปล่งปลั่งกระจ่างสว่างใสไร้ที่ติได้ภายในข้ามคืน (บ้างก็บ้ามากขนาดโม้ว่าเห็นผลในทันที)

ผู้ที่ซื้อผลิตภัณฑ์มาใช้โดยอาศัยแค่คำโฆษณาและคำโปรยในการเลือกซื้อก็สำคัญผิดคิดในใจว่าชั้นได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่บำรุงผิวล้ำลึกถึงวิญญาณ แค่ทาปาดลงไปก็รู้สึกได้เลยว่าผิวกำลังทำงานอย่างเต็มที่เหมือนติดเทอร์โบ

แต่บ่อยครั้งทีเดียวที่เมื่ออ่าน Ingredient List แล้วพบว่า ผลิตภัณฑ์แบบ Serum ราคาแพงเหยียบหมื่นบางตัวมีสารบำรุงน้อยกว่ามอยซ์เจอไรเซอร์ราคาไม่กี่ร้อยบาทเสียอีก ไม่ได้มีวิตามิน สารสกัด หรือสารบำรุงที่เข้มข้นเป็นพิเศษแตกต่างจากมอยซ์เจอไรเซอร์แบบ Lotion หรือ Cream

เราจึงไม่ควรปักใจเชื่อว่าผลิตภัณฑ์แบบ Serum หรือ Concentrate หรือ Treatment เหล่านั้นจะเข้มข้นไปด้วยสารบำรุงเพียงเพราะมันโฆษณาว่าเป็นอย่างนั้น แต่เราควรจะอ่าน Ingredient List เพื่อตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ตัวนั้นมีสารบำรุงในปริมาณที่มากพอจะแสดงประสิทธิภาพได้เต็มที่รึเปล่า



แล้วทำไมถึงหา Treatment ที่มี Active Ingredients เข้มข้นจริง ๆ ได้ยากในท้องตลาด?


เหตุผลง่าย ๆ ที่เหตุใดบริษัทเครื่องสำอางถึงได้ไม่ใส่พวกสารบำรุงมาเยอะ ๆ นั่นก็เพราะมันทำให้ต้นทุนของผลิตภัณฑ์สูงขึ้น และก็เป็นความจริงที่ว่า “ยิ่งเข้มข้นมาก โอกาสที่จะระคายเคืองหรือแพ้ก็มากขึ้นตามไปด้วย”

สารบำรุงบางอย่างเช่นวิตามินซีแบบ Ascorbic Acid จะมีประสิทธิภาพเต็มที่ก็ต่อเมื่อมีค่า pH เป็นกรดและมีความเข้มข้นสูง (ประมาณ 10%) ในความเข้มข้นระดับนี้จะทำให้ผิวรู้สึกแสบยิบ ๆ ขณะใช้ ส่วน Retinol ที่เข้มข้นก็อาจทำให้ผิวลอกได้ เช่นเดียวกันกับ AHAs และ BHA ที่มีความเข้มข้นเหมาะสมและมีค่า pH ถูกต้องการมีโอกาสทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองหรือแสบบ้างซึ่งถือเป็นอาการปกติ แต่ผู้บริโภคมักจะเข้าใจผิดไปว่าอาการที่เกิดขึ้นนี้เป็นอาการแพ้ และตีโพยตีพายไปว่าผลิตภัณฑ์ตัวนั้นไม่ดี

เพื่อเป็นการตัดปัญหา เครื่องสำอางส่วนใหญ่จึงใส่ Active Ingredients ในปริมาณไม่มาก เพื่อลดโอกาสที่จะก่อให้เกิดการระคายเคือง และเน้นทำเนื้อผลิตภัณฑ์ที่ให้ความรู้สึกดีเมื่อทาลงบนผิวมากกว่า (ซึ่งเป็นผลทางคอสเมติค)

แต่ต้องขอบคุณเทคโนโลยี Internet ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลของส่วนผสมเหล่านี้ได้ง่ายกว่าแต่ก่อน ทำให้เครื่องสำอางที่มีแต่ราคาคุยไม่สามารถขายได้ดีเหมือนแต่ก่อน จึงเริ่มมี Treatment เข้มข้นออกมาวางตลาดกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน



Treatment ที่ดีควรมีเนื้อเบาบางหรือเหลวที่สุดเท่าที่คุณจะหาได้


เนื้อผลิตภัณฑ์แบบน้ำเหลว ๆ หรือเจลใส จะทำให้สารบำรุงที่ผสมอยู่ซึมลงผิวได้ดีที่สุด เนื้อผลิตภัณฑ์แบบซิลิโคนลื่น ๆ ก็ถือโอเคเหมือนกัน ควรหลีกเลี่ยง Treatment ที่มีเนื้อเข้มข้นจนเหมือน Lotion หรือ Cream เพราะปริมาณ Oil และ Emollients จะทำให้สารบำรุงต่าง ๆ ซึมลงผิวได้ไม่ดีนัก


คำพูดที่บอกว่า “Serum บำรุงผิวชั้นใน ส่วน Lotion กับ Cream จะบำรุงแค่ผิวชั้นนอก” นั้นไม่เป็นความจริง


พื้นฐานของ “มอยซ์เจอไรเซอร์” จะประกอบไปด้วย “Base” และ “Additive” ไม่ว่าผลิตภัณฑ์ตัวนั้นจะเรียกว่า Liquid, Gel, Serum, Lotion, Emulsion, Cream หรือ Balm ก็ถือเป็น “มอยซ์เจอไรเซอร์” ได้ทั้งหมด สิ่งที่แตกต่างกันหลัก ๆ ก็คือ “Base” หรือ “เนื้อของผลิตภัณฑ์” ส่วน “Additive” นั้นก็เป็นของที่เติมลงไปใน “Base” อย่างเช่นพวกวิตามิน สารสกัด สี น้ำหอม สารกันเสีย

มอยซ์เจอไรเซอร์ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น Serumหรือ Liquid, Gel, Lotion, Emulsion, Cream, Balm ต่างก็ทำงานที่ผิวชั้นนอก (Epidermis) กันทั้งนั้น โดยหน้าที่หลัก ๆ คือการเคลือบผิวภายนอก เพิ่มหรือเก็บกักความชุ่มชื้น ส่วนจะมีประสิทธิภาพในการบำรุงหรือฟื้นฟูเซลล์ผิวที่ลึกลงไปอย่างไรต้องมาดูกันที่ Additive ว่าเขาใส่สารตัวไหนลงมา มีประสิทธิภาพจริงไหม ใส่มาในความเข้มข้นเท่าไหร่

แต่อย่างไรก็ดี เนื้อผลิตภัณฑ์แบบ Serumนั้นส่วนใหญ่มักจะมีเนื้อบางเบา มีปริมาณน้ำเยอะ ทำให้ Additive พวกวิตามิน หรือสารที่ละลายในน้ำซึมลงผิวได้ดีกว่า Base แบบ Lotion, Emulsion, Cream หรือ Balm



มองหาส่วนผสมที่พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพจริง
 

ยิ่งการแข่งขันของบรรดาบริษัทเครื่องสำอางเพื่อแย่งลูกค้าและส่วนแบ่งทางการตลาดเข้มข้นมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะได้เห็นสารสกัดจากพืชประหลาด ๆ ที่มาจากแหล่งแปลก ๆ มีชื่อไม่คุ้นหูมากขึ้นเท่านั้น นั่นก็เพราะบริษัทเครื่องสำอางจะต้องหาจุดขายใหม่ ๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของตนนั้นดู Unique แตกต่างโดดเด่นไม่เหมือนของคู่แข่ง

แต่สารที่ถูกค้นพบใหม่เหล่านี้ยังไม่ได้รับการทดสอบหรือพิสูจน์ประสิทธิภาพกันอย่างกว้างขวาง และคำกล่าวอ้างเรื่องประสิทธิภาพก็มักมาจากตัวบริษัทผู้ผลิตเองทั้งนั้น ข้อมูลเหล่านี้จึงไม่มีความน่าเชื่อถือเอาเสียเลย

คงจะดีกว่าถ้าเราจะมองหาส่วนผสมที่ผ่านการทดสอบพิสูจน์ประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับกันในระดับสากลแล้วว่าดีจริงไม่อิงปาฏิหาริย์

โดยส่วนผสมที่ได้รับการทดสอบและยอมรับกันแล้วว่ามีประโยชน์กับผิวจริงก็มีอยู่มากมายหลายตัว แต่จะขอยกตัวอย่างและอธิบายอย่างละเอียดพร้อมแนะนำผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมเหล่านั้นมาให้ศึกษากันอย่างจุใจ โดยสามารถคลิกอ่านได้ตามหัวข้อด้านล่างนี้

 


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น